กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านไม้ไผ่และอาคารไม้ไผ่

กฎหมายการสร้างบ้านไม้ไผ่และอาคารไม้ไผ่

ก่อนสร้างอาคารไม้ไผ่ควรรู้กฎหมายและข้อบังคับอะไรบ้างเพื่อความปลอดภัย

การสร้างบ้านหรืออาคารไม้ไผ่ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรงทนทาน อยู่อาศัยได้เย็นสบาย และยังมีความสวยงามแบบเฉพาะตัวอีกด้วย ทำให้ใครหลายๆ คนเริ่มมองการเลือกวัสดุไม้ไผ่มาสร้างอาคารเป็นทางเลือกใหม่ ในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย และอาคารใช้สอยอื่นๆ รวมถึงเราเริ่มเห็นโครงสร้างไม้ไผ่ตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น อาคารที่พักรีสอร์ต อาคารคาเฟ่ และอาคารสำนักงานต่าง ๆ แต่หลายคนอาจยังไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างบ้านไม้ไผ่หรืออาคารไม้ไผ่ในประเทศไทย

วันนี้เราจะพาไปรู้เรื่องกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านไม้ไผ่ สำหรับผู้ที่สนใจและมองอาคารไม้ไผ่เป็นทางเลือกใหม่ไม่ควรพลาด และเพื่อให้คุณมั่นใจได้ในเรื่องของความปลอดภัยของอาคาร การเตรียมการก่อสร้าง ไปจนถึงความถูกต้องตามกฎหมาย

ชวนรู้! ก่อนสร้างอาคารไม้ไผ่มีกฎหมายและข้อบังคับอะไรบ้าง

  • กฎหมายควบคุมอาคาร
    คือกฎหมายที่ต้องการควบคุมการก่อสร้างให้มีความแข็งแรง และมั่นคง รวมถึงสร้างความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัย ซึ่งกฎหมายควบคุมอาคารจะไม่ได้บังคับใช้ในทุกพื้นที่ แต่หากจะทำการก่อสร้างอาคารไม่ว่าจะเป็นอาคารคอนกรีต หรืออาคารไม้ไผ่ ต้องการดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนการใช้อาคารในพื้นที่เหล่านั้น ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน ซึ่งจะต้องดำเนินการกรอกฟอร์มและยื่นเอกสารให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนถึงจะทำการก่อสร้างได้ ถือเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำการตรวจสอบเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535, (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543, (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550, (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 (คลิกที่นี่)
  • กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคาร
    เช่น กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) โดยออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งได้ระบุลักษณะของอาคาร การใช้วัสดุ และการก่อสร้างส่วนต่างๆ ของอาคารเอาไว้ว่าควรก่อสร้างอย่างไรถึงจะมีความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด ถึงแม้ว่าในกฎกระทรวงจะไม่ได้ระบุถึงเรื่องการสร้างอาคารไม้ไผ่โดยตรง แต่ก็เป็นกฎที่ผู้ที่จะสร้างบ้านหรืออาคารควรต้องรู้และปฏิบัติตาม ตัวอย่างเช่น
    • จะสร้างบ้านเต็มผืนที่ดินไม่ได้ และจะสร้างชิดรั้วต้องได้รับความยินยอม โดยจะต้องสร้างให้ขอบเขตของตัวบ้านหรืออาคารไม้ไผ่มีพื้นที่ไม่เกิน 70% ของที่ดิน ซึ่งจะตั้งอยู่บริเวณไหนของพื้นที่ก็ได้แต่ต้องไม่ชิดรั้วจนเกินไป หากต้องการสร้างชิดรั้วเลยนั้นเจ้าของบ้านจะต้องได้รับการยินยอมจากเพื่อนบ้านเป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ผนังบ้านต้องเป็นผนังทึบไม่มีหน้าต่าง ช่องลม ช่องแสง แต่ทางที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาควรเว้นระยะห่างตัวบ้านจากรั้วไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร
    • ผนังบ้านที่มีประตูหน้าต่างต้องมีระยะห่างจากแนวรั้วอย่างน้อย 2 เมตร ไม่ว่าจะเป็นบ้านอาคารไม้ไผ่ 1 ชั้น หรือ 2 ชั้นที่มีประตูหน้าต่างจะต้องตั้งห่างจากรั้วอย่างน้อย 2 เมตร
    • สร้างบ้านล้ำเข้าพื้นที่ถนนสาธารณะไม่ได้ โดยที่ตัวบ้านต้องตั้งอยู่ห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตร
    • การสร้างบ้านใกล้แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับความกว้างของแหล่งน้ำอย่างแม่น้ำ คู คลองนั้นว่ามีความกว้างเท่าไหร่ หากมีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร จะต้องตั้งแนวอาคารให้ห่างออกไปไม่น้อยกว่า 3 เมตร แต่หากแหล่งน้ำนั้นมีความกว้างมากกว่า 10 เมตรขึ้นไปจะต้องสร้างให้ห่างไป 6 เมตร
    • ในแต่ละห้องต้องมีหน้าต่างหรือช่องแสง การกำหนดสัดส่วนภายในบ้านหรืออาคารไม้ไผ่ จะแบ่งออกเป็นแต่ละห้องนั้นควรมีพื้นที่สำหรับระบายอากาศทั้งประตู หน้าต่าง ช่องลม ช่องแสง รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 10% ของพื้นที่ในห้องนั้นๆ เพื่อความเหมาะสมในการอยู่อาศัย ซึ่งหากสร้างเป็นห้องทึบโดยไม่มีช่องดังกล่าวจะถือว่าผิดกฎหมาย
    • ห้องนอนต้องพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร เพื่อให้สามารถใช้สอยได้อย่างเหมาะสมและปลอดโปร่ง ควรมีพื้นที่ห้องน้อยไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร และมีด้านแคบสุดไม่น้อยกว่า 2.5 เมตร
    • เพดานห้องน้ำต้องสูงกว่า 2 เมตร เพื่อความปลอดภัยความสูงของเพดานห้องน้ำไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนของบ้านต้องมีความสูงอย่างน้อย 2 เมตร
    • บันไดบ้านต้องกว้างมากกว่า 80 เซนติเมตร และในแต่ละช่วงต้องสูงไม่เกิน 3 เมตร หากมากกว่านี้ต้องมีชานพัก โดยที่ชานพักบันไดต้องมีความสูงจากบันไดไม่น้อยกว่า 1.9 เมตร เพื่อความปลอดภัย
  • ข้อบังคับของกฎกระทรวง 2527
    สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้างในทุกวัสดุนั้นจะมีการกำหนดคุณสมบัติของวัสดุต่าง ๆ เพื่อให้วิศวกรนำไปคำนวณก่อนการก่อสร้างได้อย่างปลอดภัย แต่สำหรับวัสดุไม้ไผ่นั้นยังไม่ได้มีกฎข้อบังคับหรือกฎหมายที่ระบุถึงไม้ไผ่โดยตรง ทำให้การจะสร้างอาคารไม้ไผ่จะต้องเทียบเคียงกับการคุณสมบัติของไม้เนื้อแข็งถึงไม้เนื้อแข็งปานกลาง เพื่อกำหนดค่าคุณสมบัติเชิงกลเพื่อนำมาออกแบบและใช้ในการก่อสร้างได้ โดยพิจารณาจากค่าหน่วยแรงเหมือนวัสดุไม้อื่นๆ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (กระทรวงมหาดไทย, 2527) ดังนี้
ชนิดไม้หน่วยแรงดัดและแรงดึง MPa (kg/cm2)หน่วยแรงอัดขนานเสี้ยน MPa (kg/cm2)หน่วยแรงอัดขวางเสี้ยน MPa (kg/cm2)หน่วยแรงเฉือนขนานเสี้ยน MPa (kg/cm2)
ไม้เนื้ออ่อน8 (80)6 (60)1.6 (16)0.8 (8)
ไม้เนื้อแข็งปานกลาง10 (100)7.5 (75)2.2 (22)1 (10)
ไม้เนื้อแข็ง12 (120)9 (90)3 (30)1.2 (12)

ที่มา: กระทรวงมหาดไทย (2527)

จะเห็นได้ว่ามีกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่ควรรู้ก่อนจะเริ่มการสร้างบ้านหรือสร้างอาคารไม้ไผ่ ถึงแม้ในประเทศไทยจะยังไม่ได้มีกฎหมายหรือข้อบังคับที่ระบุถึงการสร้างอาคารไม้ไผ่โดยตรง แต่กฎหมายและข้อบังคับที่เรายกมาให้เป็นตัวอย่างนั้น ถือเป็นกฎหมายเบื้องต้นที่ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงควรดำเนินการเรื่องขออนุญาตให้เรียบร้อย ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะสร้างอาคารไม้ไผ่ควรมีความรู้เกี่ยวกับการนำวัสดุไม้ไผ่มาก่อสร้างอาคาร หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้สร้างได้อย่างสวยงาม ปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับใครที่กำลังมองหาผู้เชี่ยวชาญตัวจริงด้านการก่อสร้างอาคารไม้ไผ่ Thailand Bamboo เราเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี โดยมีบริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตและแปรรูปไม้ไผ่ การออกแบบ ไปจนถึงการก่อสร้างอาคารไม้ไผ่ที่แข็งแรงทนทาน โดยเป็นไม้ไผ่กันมอดรายแรกของประเทศไทย ด้วยการผลิตที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการระเหยของสารเคมี เพื่อให้คุณได้อาคารไม้ไผ่ที่มีทั้งความสวยงามและตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างแท้จริง